นับว่าเป็นคืนดีๆ ที่น่าจดจำ เมื่อหนังสั้น (ความยาว 55 นาที) ของพวกเรา C5532 Productions ได้ฉายบนจอโรงภาพยนตร์ระดับไฮเอนด์
ในวันที่ผู้กำกับบอกผมว่า “หนังเราจะฉายโรงนะ” ตอนนั้นไม่รู้จะดีใจหรือจะเครียดดีวะ เนื่องจากส่วนตัวผมไม่เคยตัดต่อวิดีโอเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์มาก่อน แถมคิด (ไปเอง) ว่ามันคงต้องใช้ฝีมือเจาะลึกลงไปในชั้นเชิงด้านเทคนิคเยอะแยะมากมาย แถมหนังก็ยาวเกือบชั่วโมง เราจะไหวเหรอ เคยทำแต่หนังสั้นไม่กี่สิบนาที ต้องมานั่งศึกษารายละเอียดโปรแกรมแปลงไฟล์อะไรเพิ่มไปอีกยิบย่อย แต่ถ้าผมเลือกที่จะเครียดและอยู่ในคอมฟอร์ทโซนเช่นนั้น ก็คงไม่มีโพสต์นี้ให้ได้พิมพ์เก็บไว้อ่านทีหลังหรอกครับ
“เอาหน่อยว่ะ ลองดูก่อน” ผมตอบกลับผู้กำกับไปแบบนั้น แม้จะยังครึ้มอกครึ้มใจในความสามารถของตนเอง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้สำหรับการเรียนป.โท ที่ช่วงนั้นแทบไม่มีเวลาปลีกตัวไปทำอะไรแล้ว จะให้แบ่งมาทุ่มกับหนังเสียหมดเลยก็เกรงใจเกรดอยู่ ฉะนั้น ในงานนี้ผมจึงตกปากรับคำว่าจะเป็นแค่คนดูแลในเรื่องการตัดต่อ/ลำดับภาพ แค่นั้น ทั้งที่ใจจริงก็อยากไปช่วยทีมงาน (ที่มีกันอยู่เพียง 5 คน) ออกกองถ่ายเหมือนโปรเจคท์อื่นๆ ที่เคยทำกันมา
ด้วยการหาข้อมูลและวางแผนกันภายในทีมอย่างดี ภายใต้เวลาอันจำกัด เราเดินทางแวะเวียนกันไปประชุมความคืบหน้ากันหลายครั้งหลายครา ทำให้การดำเนินงานตั้งแต่กระบวนการถ่ายทำ มาจนถึง post production เห็นผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกที ในการที่จะเนรมิตฟุตเตจทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงเหล่านั้นให้ออกมาเป็น film แนวฮิปสเตอร์ ตามคอนเซปต์ของเรื่องที่เราต้องการ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ ที่ได้นำเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ฟีล cinematic look มากขึ้น อย่างการตัด scope letterbox เพื่อให้ได้ภาพยาวๆ การถ่ายด้วยเฟรมเรต 24 fps และการ grading color ซึ่งกระบวนการหลังนี้ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเรา ที่ต้องเรียนรู้กันตั้งแต่เบสิค งานนี้จึงทำให้เราได้รู้จักซอฟต์แวร์ใหม่ๆ อย่าง Davinci Resolve, IzotopeRX และได้คุยกันด้วยภาษาศัพท์เทคนิคเยอะมากกว่าหลายเรื่องที่เคยทำมา เรื่องนี้ตัวหนังยาว 50 กว่านาที คนดูนั่งดูแป๊บเดีวก็จบ แต่เบื้องหลังการถ่ายทำอยู่ในระยะเวลาหลายเดือน
วัน test run ตัว master ที่ทำเสร็จครั้งแรก ที่โรงหนังเซนทรัลเอมบาสซี่ สตาฟฟ์พาพวกเราขึ้นไปยังคอนโทรลรูมที่มีเครื่องฉายหนังอยู่ชั้นบนสุดของแต่ละโรง เราสามารถมองผ่านจากช่องกระจกใสของห้องควบคุมนี้ลงไปเห็นจอและโซฟานั่งภายในตัวโรงภาพยนตร์ข้างล่างได้ชัดเจน เครื่องมือในห้องคอนโทรลมีมอนิเตอร์และแผงวงจรต่างๆ ดูซับซ้อนพอสมควร ขืนไปสะดุดเข้านี่งานงอก
ผมและทีมงานตื่นเต้นอยู่นานว่าไฟล์ที่ render มานี้จะเปิดในโรงได้ไหม ผลคือไฟล์ที่ทำมาเปิดไม่ได้ แต่กระนั้นเราก็มีแผนสำรองคือใช้เปิดในแลปท็อปโดยต่อข้อมูลผ่านสาย HDMI ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีทีเดียว วินาทีนั้น ผมเห็นหนังบนจอโรง แล้วโล่งใจ … เคยสงสัยเป็นการส่วนตัวว่าพนักงานโรงหนังที่คุมในห้องตรงนี้ดีอย่างคือได้ดูหนังใหม่แบบฟรีๆ ทุกเรื่อง แต่พี่เขาบอกว่าไม่ได้ดูหรอก เดินวุ่นไปทั่ว มีหลายโรงต้องไปคุมในเวลาเดียวกัน 555
ผมเดินลงจากห้องคอนโทรลเข้าไปในโรง แล้วเอนตัวนอนดูผลงานของตัวเองบนจอขนาดใหญ่และกว้างขวาง มันดูแปลกตาดี เพราะปรกติแล้วเคยชินอยู่กับการตัดต่อผ่านจอแมคบุ๊กขนาด 13 นิ้ว พูดง่ายๆ คือเห็นงานตัวเองขนาดจิ๋วๆ มาโดยตลอด มาดูจอโรงใหญ่ๆ ก็ทำให้เห็นรายละเอียดอะไรชัดไปหมด ไม่เว้นแม้แต่รีเฟลกซ์ในกระจก!
ในเรื่องของเสียง ระบบลำโพงเขาเซอร์ราวมากๆ ส่งออกได้รอบทิศทาง 7.1 แต่เราทำเสียงมา 5.1 ไง แล้วสกุลวิดีโอก็ควรต้องแปลงจาก MOV ไปเป็น DCP (ไฟล์เฉพาะสำหรับฉายจอโรง) พูดได้ว่า เราแก้ไฟล์กันมันส์หยด ข้ามแพลตฟอร์มทั้งแมค/วินโดวส์ สารพัดปัญหาจิปาถะที่บางเรื่องมันก็เกินตัวที่จะแก้ จ้างเขาทำง่ายกว่า
ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ในงานตัดต่อ กว่าจะฉายจอโรงได้ ผ่านมาเยอะ แก้มาเยอะ งาน editing นี่มัน editing จริง
จากมุมมองคนตัดต่อแล้ว มันอาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบระดับโปรเทือกนั้น เพราะนี่เพิ่งจะครั้งแรก และเราก็เห็นแล้วว่ามีอะไรผิดพลาดไปบ้าง อย่างไรก็ดี บทสรุปของงานชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นการได้รับฟีดแบคจากผู้ชมแล้ว ก็ถือว่าการได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ทำอะไรแบบนี้ เอาไว้ถ่ายทอดให้คนอื่นหรือโปรเจคท์ในอนาคตอื่นๆ ต่อได้ ขอบคุณหลายๆ เหตุการณ์เข้ามาเสริมในช่วงที่เราผลิตงานชิ้นนี้ ทำให้ทีมเราก็แกร่งขึ้น โตขึ้น เรียนรู้อะไรมากขึ้น สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่สำเร็จได้เลยหากปราศจากจุดร่วมสำคัญ นั่นคือ การทำงานด้วยกันของพวกเรา C5532: Montri Sangkam, Lhee Worratum, Nattha Rattanakosin, Mint Sarpthipratana, Dhananon Salad
และรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งเบื้องหลัง เบื้องหน้า ตัวประกอบ ฯลฯ แม้มิได้แท็กชื่อไว้ แต่วันนี้ที่เจอกันก็ชื่นชมในใจเหมือนว่า “แม่งได้จริงๆ”
#ปิดจ๊อบแบบเงียบเงียบ